ประวัติความเป็นมา

“เมืองระแหง” หรือ “เมืองตาก” ในปัจจุบันนั้น มีหลักฐานการก่อตั้งเมืองอยู่บนที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำปิงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เนื่องจากตำแหน่งทำเลที่ตั้ง ซึ่งเป็นจุดตัดทางยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นทางการรบและเส้นทางการค้าขาย ระหว่างทางเหนือ คือ อาณาจักรล้านนา นครเชียงใหม่ ลำปาง ล่องลงมาทางแม่น้ำปิง ตัดกับเส้นทางทิศตะวันตกจากเมืองระแหง ผ่านแม่สอดเพื่อไปเมืองมะละแหม่ง เมืองท่าสำคัญติดทะเลทางทิศตะวันตกของประเทศพม่า และเส้นทางลงสู่ทิศใต้ไปยังกำแพงเพชร นครสวรรค์ จนถึงบางกอก (กรุงเทพ)
เมืองระแหงจึงเริ่มจากการเป็นชุมชนริมแม่น้ำปิง พัฒนาเป็นเมืองหน้าด่าน และหัวเมืองชั้นนอก เมื่อเส้นทางการรบเปลี่ยนเป็นเส้นทางการค้า ระแหงก็เปลี่ยนบทบาทเป็นเมืองท่าค้าขาย โดยมีศูนย์กลางการค้าและการขนส่งอยู่ที่ชุมชนตรอกระแหง หรือ ตรอกบ้านจีน ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยเดิมที่อยู่ร่วมกันกับชาวจีน (แต้จิ๋ว) ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ทำการค้า กิจการ ป่าไม้ การเงิน การขนส่งเรือเมล์ ในยุคสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง จนประสบความสำเร็จเจริญรุ่งเรืองทั้งภาคธุรกิจการค้า การเมืองการปกครอง การทหาร และราชการ ด้วยจำนวนตระกูลและลูกหลานชาวจีนที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นที่รู้จักในชื่อ “บ้านจีน” หรือ “ตรอกบ้านจีน” มาจนถึงในปัจจุบัน

องค์ประกอบของชุมชน (ก่อน พ.ศ. 2475)

บ้านเรือนในชุมชนตรอกบ้านจีน มีลักษณะเรียงตัวเป็นแถวยาวเลียบริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ตระกูลต่างๆ จับจองครอบครองที่ดินเรียงกัน โดยแต่ละตระกูลมีที่ดินที่ติดน้ำ ใช้เป็นท่าน้ำ ศาลาริมน้ำ หรือท่าเรือสำหรับเป็นที่ขึ้นลงสินค้า ส่วนทางหน้าบ้านติดกับตรอกซึ่งกว้างประมาณ 4 - 5 เมตร ยาวประมาณ 400 เมตร เป็นเส้นทางสัญจรทางบก ขนาบซ้าย-ขวาด้วยเรือนค้าขายชั้นเดียว ทรงไทย หลังคาจั่วสูง ด้านหลังอาคารค้าขายฝั่งตะวันออกจะเป็นส่วนของที่พักอาศัย ยุ้งข้าว และสวนครัว สวนผลไม้ (ถนนตากสินในปัจจุบัน) ถัดไปจะเป็นป่า และป่าช้า ส่วนนาข้าวของชุมชนจะอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง (หรือเรียกว่าฝั่งป่ามะม่วง) ด้วยความสมบูรณ์พร้อมทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ปัจจัยพื้นฐาน ส่งผลถึงความมีเอกลักษณ์ทางศิลปะ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรม เรือนค้าขาย เรือนคหบดี ขุนนาง ที่เหมาะสมกับบริบทภูมิประเทศ ภูมิอากาศ กิจกรรมการใช้งาน วิถีชีวิต และภูมิปัญญาช่างท้องถิ่นในการออกแบบ การใช้วัสดุทรัพยากร แบบแผนเชิงช่างในการก่อสร้างประกอบเรือน ประยุกต์ผสมผสานเรือนไทยภาคกลางและเรือนไทยภาคเหนือ ที่มีความสง่างาม วิจิตรบรรจง โดยมีลักษณะเฉพาะตั้งแต่การวางผังกลุ่มเรือน เรือนยกใต้ถุน ชานขายของแบ่งแยกระดับกับส่วนพักผ่อน ลักษณะเฉพาะของบานเฟี้ยมช่องลม การเข้าลิ่มสลักเดือยปราศจากตะปู หลังคาจั่วทรงสูงมุงกระเบื้องดินเผา โดยสามารถแบ่งได้เป็นเรือนไม้หลังคาจั่วชั้นเดียว เรือนไม้สองชั้น (หลัง พ.ศ. 2500) และเรือนที่มีลักษณะเฉพาะ (เรือนไทย และ เรือนขนมปังขิง)
ในด้านการคมนาคม และการขนส่งสินค้าโดยส่วนใหญ่จะใช้แม่น้ำปิงเป็นหลัก ส่งผลให้มีท่าเรือเรียงรายตลอดริมแม่น้ำตั้งแต่ทิศเหนือ ซึ่งท่าเรือที่สำคัญมีด้วยกัน 3 ท่า ได้แก่ 1.ท่าหลวงหรือท่าเรือ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของชุมชน (ถนนท่าเรือในปัจจุบัน) 2.ท่าปากคลองน้อย ตั้งอยู่บริเวณที่คลองน้อยตัดกับถนนตรอกสายหลัก จึงถูกเรียกว่าตรอกปากคลองน้อย มีสะพานทอง เป็นสะพานไม้สัก หลังคามุงสังกะสีสำหรับข้ามคลอง และ 3.ท่าวัดน้ำหักทางใต้ของชุมชน
นอกจากนี้ภายในชุมชนยังเป็นที่ตั้งของสถานที่ที่สำคัญของชุมชนอีกมากมาย ได้แก่ เสาสูงหรือเสาโทรเลข ที่เดินสายข้ามแม่น้ำปิงมาจากเสาที่ตั้งบนเกาะอีจอน (ชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียกหาดทราย เกาะแก่ง ที่โผล่ขึ้นมาในยามที่แม่น้ำปิงลดระดับลงในหน้าแล้ง) จึงทำให้บางคนเรียกตรอกบ้านจีนว่า “ตรอกเสาสูง” และมีวัดสำคัญที่ชุมชนเป็นโยมอุปัฏฐากจากเหนือ-ใต้ ได้แก่ วัดมะเขือแจ้ วัดโพธาราม วัดไผ่ล้อม วัดสระเกศ และวัดสีตลาราม (วัดน้ำหัก) รวมถึงศูนย์ราชการ ศาลากลาง ศาล ที่อยู่ใกล้เคียงกับปากตรอกทางเหนือของชุมชน จึงอาจกล่าวได้ว่าบริเวณชุมชนตรอกบ้านจีนในอดีตเปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของเมืองระแหง

การเปลี่ยนแปลงของเมืองและชุมชน

ในช่วง พ.ศ. 2475 เป็นช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงมีผลกระทบต่อโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง จากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ซึ่งมีผลต่อตระกูล ข้าราชการชั้นสูง นักการเมืองและนักธุรกิจ พ่อค้า ที่อาศัยอยู่ในตรอกบ้านจีน จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484 – 2493) สงครามระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ ที่แผ่ขยายมาจากประเทศพม่า ทำให้เมืองตากซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการรบมาตั้งแต่อดีต ประกอบกับชุมชนตรอกบ้านจีนตั้งอยู่ใจกลางเมือง และมีจุดสังเกตของชุมชน คือ เสาโทรเลข (เสาสูง) จึงกลายเป็นจุดอันตราย จุดทิ้งระเบิด ส่งผลให้ชาวบ้านต้องขุดหลุมหลบระเบิดและใช้มะพร้าวพลางหลังคาบ้าน จนบางครอบครัวต้องอพยพไปอยู่ต่างอำเภอหรือต่างจังหวัด การอพยพย้ายถิ่นฐานในภาวะสงครามนำไปสู่การเกิดตลาดใหม่ทางเหนือของชุมชน (พ.ศ. 2488)
การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนมากที่สุดคือ การพัฒนาเมืองแบบสมัยใหม่ เปลี่ยนชุมชนที่พึ่งพาตนเองจากทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเมืองที่พึ่งสาธารณูปโภคจากรัฐ ซึ่งการพัฒนาเมืองแบบสมัยใหม่ทำให้ระบบขนส่งภายในชุมชนเปลี่ยนรูปแบบจากการเดินทางโดยเรือ ใช้ช้างหรือม้าเป็นพาหนะ มาเป็นการใช้รถยนต์ ในขณะที่ตรอกและถนนต่างๆ โดยรอบชุมชนเดิมมีขนาดเล็กและไม่เพียงพอต่อระบบขนส่งรูปแบบใหม่ จึงทำให้เริ่มมีการก่อสร้างถนนเพิ่มเติมและทำให้เกิดการขยายตัวของเมือง ซึ่งมาพร้อมกับมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละออง เสียงรบกวน และความร้อน
กระทั่ง มีการกั้นล้อมรั้วในชุมชนตรอกบ้านจีนในช่วง พ. ศ. 2497 การย้ายตำแหน่งของสาธารณูปการสำคัญ ได้แก่ ตลาดและศาลากลางจังหวัดตาก การถมคลองน้อย และรื้อสะพานทองใน พ.ศ. 2495 ทำให้ชุมชนตรอกบ้านจีนถูกลดความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการค้าขายลง
การถมแม่น้ำปิง เป็นที่ราชพัสดุใน พ. ศ. 2505 ส่งผลกระทบหลายประการ ได้แก่ ทำให้ชุมชนอยู่ห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติมากขึ้น และต้องพึงพาสาธารณูปโภคจากภาครัฐ ผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง เนื่องจากถูกอาคารต่างๆที่สร้างใหม่บนที่ราชพัสดุบดบังความสวยงาม เกิดปัญหาน้ำท่วมขังชุมชน เนื่องจากพื้นดินถมที่มีระดับสูงกว่าเดิม ขวางทางน้ำที่ไหลลงแม่น้ำจากที่สูงสู่ที่ต่ำตามธรรมชาติ ทำให้น้ำท่วมขังในชุมชน ส่งผลต่อบ้านเรือนโบราณได้รับความเสียหาย ทรุด เนื่องจากฐานรากไม้ผุพัง เพราะแช่น้ำที่ท่วมขัง อีกทั้งน้ำที่ท่วมขังในชุมชนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
จากการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงค่านิยมแนวคิดการส่งบุตรหลานไปเรียนหนังสือต่างถิ่น จึงนำไปสู่การย้ายถิ่นฐานของหลายครอบครัว จนปรากฏบ้านร้าง ที่ดินรกร้างว่างเปล่า รวมถึงบ้านที่ขาดการดูแลจนทรุดโทรม กลายเป็นพื้นที่เปลี่ยว สกปรก แหล่งเพาะเชื้อโรค อุบัติเหตุเพลิงไหม้ และทำลายความสวยงาม ทัศนียภาพที่มีเอกลักษณ์ของชุมชน รวมไปถึงความไม่ปลอดภัยทางสังคม ปัญหาโจรขโมย ยาเสพติด

การอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนตรอกบ้านจีน

ชุมชนตรอกบ้านจีน ได้รวมลูกหลานและกัลยาณมิตร จัดตั้ง “ชมรมตรอกบ้านจีน” เพื่อร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชน ในปี พ.ศ 2551 เพื่อสืบทอดความเป็นชุมชนญาติพี่น้อง โดยรวบรวมลูกหลานตรอกบ้านจีนในปัจจุบันและที่ย้ายถิ่นฐาน กลับมาร่วมมือกับเครือข่ายอนุรักษ์ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชมรม มูลนิธิ และองค์กรต่างๆ ในการรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ งานบุญ งานประเพณี ขนบธรรมเนียม การละเล่นต่างๆ ตำรับอาหาร ตำรับยา การแต่งกาย เอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของอาคารสิ่งก่อสร้าง การรักษาโครงสร้างองค์ประกอบของชุมชน ภูมิทัศน์ เส้นทางสัญจร ตรอก ตรอกย่อย และความเป็น “ชุมชนเรือนค้าขาย” ขนาบ “ตรอก” ผังภูมิทัศน์ และอาคารที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป อนุรักษ์วัดสำคัญของชุมชน ได้แก่ วัดสีตลาราม (วัดน้ำหัก) วัดโพธิ์ วัดใหม่มะเขือแจ้ และวัดไผ่ล้อม สืบสาน พัฒนาขยายองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น งานช่าง องค์ความรู้เกี่ยวกับวัสดุและวิธีการก่อสร้าง โดยร่วมมือกับช่างสถาบันการศึกษาท้องถิ่น และร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น (เทศบาลเมืองตาก/ผังเมืองและโยธาธิการจังหวัดตาก) ในการออกข้อกำหนดผังเฉพาะการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนและพื้นที่โดยรอบ จนได้รับรางวัลต่างๆ เช่น รางวัลอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ประเภทชุมชน ประจำปี 2550 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลการประกวดแนวความคิดเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่น ประจำปี 2542 จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภท “ชุมชนพื้นถิ่น” ประจำปี 2553 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
แม้บริบทของเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลา แต่ “ทำเลที่ตั้ง” ของชุมชนตรอกบ้านจีนยังคงเป็นพื้นที่ชั้นในของเทศบาลเมืองตาก สะดวกในการเข้าถึงและสมบูรณ์พร้อมด้วย “สาธารณูปการ” ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เมื่อทำการอนุรักษ์ ฟื้นฟูชุมชนตรอกบ้านจีน ให้เป็นชุมชนประวัติศาสตร์ที่มีความน่าอยู่อย่างยั่งยืนแล้วนั้น ชุมชนตรอกบ้านจีน สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวสำหรับผู้สนใจ โดยเป็นการมาเยี่ยมชมของเหล่ากัลยาณมิตร ที่จะมาร่วมรักษา-ฟื้นฟูชุมชนตรอกบ้านจีนอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับชุมชนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จังหวัดตากโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตาก ได้เห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูชุมชนตรอกบ้านจีนดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการผลิตสื่อดิจิทัล เพื่อเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ “ชุมชนตรอกบ้านจีน” เพื่อจัดเก็บข้อมูลของชุมชนตรอกบ้านจีน เกี่ยวกับบุคคลสำคัญ วิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม และองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือนแต่ละหลัง มาจัดทำเป็นระบบข้อมูลและสื่อดิจิทัล เผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อประชาสัมพันธ์ชุมชนตรอกบ้านจีนให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักศึกษานักวิชาการ และนักท่องเที่ยวทั่วไป ได้ใช้ระบบออนไลน์ดังกล่าวเพื่อการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป โดยเบื้องต้นได้รับความร่วมมือจากชุมชนในการให้ข้อมูลจำนวน 9 หลังคาเรือน และได้ถ่ายภาพเสมือนจริง 360 องศา (360-Degree Virtual Reality) จำนวน 6 หลังคาเรือน ซึ่งคาดว่าจะได้รับความร่วมมือจากหลังคาเรือนที่เหลือต่อไปในอนาคต

สงวนลิขสิทธิ์ © 2562 สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดตาก