บ้านตระกูลโสภโณดร-เหนือ

ที่อยู่

794 ตำบลระแหง อำเภอเมือง จังหวัดตาก

รูปแบบสถาปัตยกรรม

เรือนไม้แบบตะวันตก 2 ชั้น ทรงขนมปังขิง บนขอบประตู หน้าต่างและเชิงชายหลังคาเป็นไม้ฉลุลายโปร่ง แบบตะวันตก

บรรพบุรุษผู้เริ่มก่อสร้างบ้านตระกูล “โสภโณดร” เริ่มต้นจากพ่อค้าชาวจีน 3 คน ได้แก่ จีนทองอยู่ จีนบุญเย็น และจีนเต็ง ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท กิมเซ่งหลี (มาจากแซ่ของคนจีนทั้ง 3 คน) ทำกิจการผูกขาดการจัดเก็บภาษีอากร และทำการค้าตั้งแต่เมืองเชียงใหม่เรื่อยลงมาถึงนครสวรรค์ และได้ขยายกิจการต่าง ๆ มากมาย เช่น การทำป่าไม้ กิจการโรงสีทั่วประเทศ ลงทุนในกิจการธนาคารสยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์) กิจการเรือเมล์สยามทุน จำกัด รวมถึงกิจการค้าที่ฮ่องกงและซัวเถาอีกด้วย พ่อค้าชาวจีนทั้ง 3 คน ได้ถวายงานในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หลายประการ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ และได้รับพระราชทานนามสกุล “โสภโณดร” (แปลว่า ทิศเหนือที่สวยงาม เป็นคำสนธิมาจากคำว่า โสภณ และอุดร) ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2456 ซึ่งพ่อค้าชาวจีนทั้ง 3 คน ได้น้อมรับพระมหากรุณาธิคุณ ในการพระราชนามสกุลมาใช้ร่วมกันสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

บ้านโสภโณดร ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของตรอกบ้านจีน ภายในบริเวณบ้านสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ บ้านใต้และบ้านเหนือ ถูกสร้างในยุคของหลวงบริรักษ์ประชากร (ตังกวย) บุตรชายของจีนทองอยู่ ผู้ดูแลกิจการของกิมเซ่งหลีที่เมืองตาก ตั้งอยู่ในชุมชนตรอกบ้านจีน

บ้านเหนือ หรือบ้านเรือนเหนือ เดิมเป็นเรือนไม้ แต่ประมาณ พ.ศ.2453-2455 ได้รื้อเรือนไม้หลังเดิมออกเพื่อปลูกสร้างเรือนหลังใหม่ มีลักษณะเป็นอาคารไม้สองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา ฉลุไม้ตกแต่งเป็นลวดลายแบบตะวันตกหรือเรียกว่า ทรงขนมปังขิง โดยสร้างจากความประทับใจ จากการพบเห็นพระราชวังในกรุงเทพมหานคร ครั้นเมื่อเดินทางไปติดต่อค้าขาย และทาสีตัวอาคารเป็นสีเหลืองตามความเชื่อของชาวจีน ที่ว่าสีเหลืองเป็นสีแห่งความเจริญรุ่งเรือง เดิมบ้านเรือนเหนือหลังนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองหรือข้าราชการต่าง ๆ ในเวลาต่อมา ถูกใช้เป็นสถานที่ตั้งสำนักงานของธนาคารนครหลวง สาขาแห่งแรกในจังหวัดตาก ซึ่งนายสมจิตร โสภโณดร เป็นผู้ก่อตั้งและร่วมลงทุนธนาคารนครหลวง จำกัด ปัจจุบันบ้านเรือนเหนือตกทอดมาสู่เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน คือ นายศรีศักดิ์ และนางศรีรวญ โสภโณดร มีการปรับปรุงเรือนหลังนี้ โดยทาสีเปลี่ยนเป็นสีฟ้าตามความชอบของเจ้าของเรือน และใช้เป็นเรือนเพื่ออยู่อาศัย รวมทั้งได้รับการอนุรักษ์ไว้ในสภาพเดิมทั้งหมด เพื่อเป็นการสืบทอดมรดกทางสถาปัตยกรรมให้แก่ลูกหลานต่อไป

สงวนลิขสิทธิ์ © 2562 สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดตาก